โรคจอประสาทตาเสื่อม ( Age-related Macular Degeneration; AMD )

จอประสาทตา (Retina) ส่วนสำคัญที่สุดของการมองเห็น

จอประสาทตาเป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ด้านในสุดของลูกตา ประกอบด้วยเซลประสาทรับแสงหลายล้านเซล ทำหน้าที่เปลี่ยนแสงหรือภาพที่ผ่านเข้ามาในลูกตาเป็นสัญญาณประสาทส่งต่อไปที่สมอง ทำให้เรารับรู้ถึงการมอง เห็นต่างๆได้ คล้ายกับส่วนของฟิลม์หรือCCDในกล้องถ่ายรูป
ดังนั้นถ้ามีความผิดปรกติเกิดขึ้นที่จอประสาทตา ก็จะมีผลกระทบทำให้การมองเห็นผิดปรกติไปได้ และ ถ้าจอประสาทตาเสียไปทั้งหมด ผู้ป่วยก็จะสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรและไม่สามารถแก้ไขหรือรักษาให้กลับ มามองเห็นได้อีก แม้ว่าส่วนอื่นๆของลูกตาจะปรกติดีก็ตาม

โรคจอประสาทตาเสื่อม คืออะไร

โรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นโรคที่มีความผิดปรกติเกิดขึ้นที่จุดกลางรับภาพของจอประสาทตา (Macula) ซึ่งเป็นส่วนที่ไวต่อการมองเห็นมากที่สุด โดยผู้ป่วยมักจะไม่สังเกตเห็นถึงความผิดปรกติในระยะเริ่ม ต้น มารู้ตัวเมื่อมีการสูญเสียการมองเห็นเกิดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม โรคจอประสาทตาเสื่อมจะทำให้สูณเสียการมองเห็นเฉพาะตรงกลางภาพ โดยที่ผู้ป่วยยังสามารถมองเห็นบริเวณขอบด้านข้างของภาพได้อยู่ โรคนี้มีอุบัติการสูงขึ้นมากในกลุ่มอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของภาวะตาบอดแบบถาวรในผู้สูงอายุ บุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม คือ ผู้สูงอายุ ดังนั้นผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจึงควรได้รับการตรวจจอประสาทตาทุก 1-2 ปี นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน คลอเลสเตอรอล สูง และประวัติบุคคลในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป

ชนิดของจอประสาทตาเสื่อม

    โรคจอประสาทตาเสื่อมมีลักษณะของโรค 2 รูปแบบ คือ
  1. แบบแห้ง หรือแบบเสื่อมช้า (Dry หรือ Atrophic AMD) เป็นรูปแบบที่พบได้มากที่สุด โดยเซล จอประสาทตาจะค่อยๆเสื่อมเสียไปอย่างช้าๆ ความสามารถในการมองเห็นจะค่อยๆลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จนผู้ป่วยแทบไม่ทันได้สังเกตุ
  2. แบบเปียก หรือแบบเร็ว (Wet หรือ Neovascular AMD) พบประมาณร้อยละ 10-15 ของโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้งหมด จะเกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็วทันที เป็นผลจากจุดกลางรับภาพจอประสาทตาบวมและ/หรือมีเลือดออกจากเส้นเลือดผิดปรกติใต้จอประสาทต(Choroidal neovascular membrane)

ภาพจอประสาทตาบวมจากโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบ 3 มิติ ด้วยเครื่อง HD-OCT



ภาพเลือดออกที่จอประสาทตาจากโรคจอประสาทตาเสื่อม ด้วยการฉีดสีถ่ายภาพจอประสาทตา(FFA)

การป้องกันและการวินิจฉัย

การป้องกันไม่ให้เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด นอกจากคอยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้นแล้ว การให้จักษุแพทย์ตรวจจอประสาทตาและสุขภาพตาเป็นระยะก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะตาบอดจากโรคนี้ลงได้ เนื่องจากเป็นการยากที่ผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกจะสังเกตุถึงความผิดปรกติที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นการตรวจพบและให้การรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจึงเป็นสิ่งจำเป็น วิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ บุคคลทั่วไปอายุระหว่าง 40-64 ปีที่ไม่มีอาการผิดปรกติในการมองเห็น ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา (รวมถึงการตรวจจอประสาทตา) ทุก 2-4 ปี สำหรับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจทุก 1-2 ปี แม้ไม่มีอาการผิดปรกติอะไร


การตรวจจอประสาทตาโดยทั่วไปด้วยกล้อง indirect ophthalmoscope ซึ่งต้องขยายม่านตาด้วยจะทำให้แพทย์มองเห็นความผิดปรกติได้ตั้งแต่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ และถ้าสงสัยว่าอาจเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดที่อาจเป็นอันตรายต่อการมองเห็น แม้จะยังเป็นน้อยๆและผู้ป่วยยังไม่รู้สึกถึงการมองเห็นที่ผิดปรกติ แพทย์ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้โดยใช้เครื่องตรวจพิเศษ เช่น เครี่องตรวจวิเคราะห์จอประสาทตาด้วยเลเซอร์ (OCT; Optical Coherence Tomography) ร่วมกับการฉีดสีถ่ายภาพจอประสาทตา (Fundus Angiography) ทำให้สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาได้ก่อนที่โรคจะทำความเสียหายต่อจอประสาทตา และการมองเห็นมากขึ้น


source : jirehdesign.com
ดูภาพเคลื่อนไหว

การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ แต่สามารถให้การดูแลรักษาเพื่อหยุดหรือชะลอการดำเนินโรค ให้จอประสาทตามีการเสื่อมเสียช้าที่สุด ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี การจะตัดสินใจเลือกวิธีรักษาแบบไหน ควรเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเพื่อให้ได้การรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด


การรักษาจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง ยังไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะ เป็นแต่เพียงการควบคุมและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง หมั่นออกกำลังกาย และอาจรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมเพื่อบำรุงจอประสาทตาตามคำแนะนำของแพทย์


การรักษาจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก ปัจจุบันมีวิธีการรักษาที่ได้ผลดีอยู่หลายวิธี และยังคงมีการวิจัยและพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆอยู่ตลอดเวลา


การฉีดยา AntiVEGF เข้าในน้ำวุ้นตา (Intravitreal pharmacologic injection)

ยากลุ่ม AntiVEGF ให้ผลในการยับยั้งและทำให้เส้นเลือดผิดปรกติที่เกิดใต้จอประสาทตาฝ่อหายไป ช่วยให้จอประสาทตายุบบวมและอาจมีการมองเห็นที่ดีขึ้นได้ โดยที่ยาไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อเนื้อเยื่อจอประสาทตาเหมือนการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ หรือการผ่าตัด ยาจะมีผลในการควบคุมโรคให้สงบได้แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย โดยเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 3 เดือนจึงจะต้องฉีดซ้ำอีก แต่ในบางครั้งแพทย์อาจพิจารณาฉีดยาเร็วกว่านั้น แม้จะยังไม่มีลักษณะของการกลับเป็นซ้ำ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดในผู้ป่วยแต่ละราย


ยากลุ่มนี้มีหลายชนิด ยา ranibizumab และ bevacizumab ให้ผลการรักษาที่ใกล้เคียงกันทั้งในแง่ประสิทธิภาพในการควบคุมโรค ระยะเวลาถี่ห่างในการฉีด ตลอดจนภาวะแทรกซ้อนในการรักษา และให้ผลที่ดีกว่ายาอื่นในกลุ่มนี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีผลเสีย และความเป็นไปได้ในการใช้ยาแต่ละตัว เพราะจำเป็นที่จะต้องได้รับการฉีดยาอย่างต่อเนื่องไปตลอดเพื่อควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามมากขึ้น

การฉายแสงเลเซอร์แบบ PDT (Photodynamic Therapy)

เป็นวิธีแรกที่รักษาโรคนี้ได้ผลดี โดยใช้การฉีดยา verteporfin ซึ่งเป็นสาร photosensitizer เข้าทางเส้นเลือดที่แขน ยาจะไหลผ่านระบบไหลเวียนโลหิตของร่างกายไปที่ตา และจับกับผนังของหลอดเลือดที่ผิด ปรกติใต้จอประสาทตา เมื่อฉายแสงเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่นจำเพาะที่ไม่ก่อให้เกิดความร้อนไปยังบริเวณรอยโรค ยาจะทำปฏิกิริยากับแสงเลเซอร์แล้วก่อให้เกิดการทำลายเส้นเลือดที่ผิดปรกตินั้น โดยแทบไม่ส่งผลกระทบต่อจอประสาทตาและเส้นเลือดปรกติในบริเวณใกล้เคียง จึงนับเป็นการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ที่ไม่ทำลายจอประสาทตาเหมือนการใช้แสงเลเซอร์ทั่วไป


ผลการรักษาช่วยให้ควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามได้ดี แม้ไม่เท่าและไม่มีผลฟื้นฟูการมองเห็นเหมือนการฉีดยา AntiVEGF 2 ชนิดข้างต้น โดยเฉลี่ยในคนไทยจะทำการรักษาซ้ำปีละครั้ง แต่ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของโรคเมื่อเริ่มทำการรักษาด้วย

การผ่าตัด Macular surgery

เป็นการผ่าตัดน้ำวุ้นตา จอประสาทตา เพื่อทำลายหรือนำเส้นเลือดผิดปรกติออกจากใต้จอประสาทตา และแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่างๆจากโรค โดยมุ่งหวังยับยั้งการลุกลามของโรคและคงสภาพการมองเห็นไว้ให้ได้มากที่สุด มักทำผ่าตัดในกรณีที่การรักษาด้วยการฉีดยา AntiVEGF หรือการทำ PDT ไม่สามารถควบคุมโรคได้

สุขภาพตาดูแลได้

    แม้เราจะไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ แต่เราสามารถดูแลตัวเองเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคและการตาบอดจากโรคได้ โดย
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆเช่น งดสูบบุหรี่ รวมทั้งหลีกเลี่ยงจากควันบุหรี่ด้วย งดอาหารที่มีไขมันสูง
  • ถ้ามีโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ต้องรักษาและควบคุมให้อยู่ในเกรณ์ปรกติ
  • หมั่นออกกำลังกายแบบ aerobic exercise อย่างสม่ำเสมอโดยเลือกประเภทให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยานอยู่กับที่ ว่ายน้ำ ในผู้สูงอายุหรือผู้มีปัญหาเรื่องข้อ การทำกายบริหารในสระน้ำจะช่วยให้ออกกำลังได้ดี โดยต้องมีเกรณ์ในการตรวจวัดชีพจรขณะออกกำลังกายให้เหมาะสมตามอายุและสภาพร่างกายด้วยจึงจะได้ผลดีและสามารถขอคำแนะนำจากแพทย์ได้
  • หลีกเลี่ยงแสงแดดจ้า ใส่แว่นตากันแดดเวลาออกนอกอาคารสถานที่ โดยเลือกเลนส์แว่นตาที่สามารถป้องกันแสงสีฟ้าและรังสี UV ได้ 99-100% และควรลดทอนความจ้าของแสงลงได้ 70-80%
  • รับประทานอาหาร ผัก ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อดวงตา พบว่าสารต้านอนุมูลอิสระชนิด lutein/zeaxanthin มีอยู่ที่ตาในปริมาณสูงและมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการเสื่อมของจอประสาทตาและเลนส์แก้วตา อาหารที่มีสารนี้ในปริมาณสูงได้แก่ ไข่แดง มีมากที่สุด รองลงไปได้แก่ผลไม้และผัก ผลไม้ ได้แก่ ข้าวโพดเหลือง ผลกีวี องุ่นแดงไร้เมล็ด ฟักทอง ผัก ได้แก่ ผัก zucchini ผักขม(spinach) แตงกวา ถั่วลิสง เป็นต้น สำหรับผักใบเขียวเข้มชนิดต่างๆของไทย ก็เชื่อว่ามีสารนี้อยู่มากเช่นกัน
  • การรับประทานวิตามินหรือสารอาหารทดแทนในรูปของยาสำเร็จรูป ควรให้จักษุแพทย์ตรวจดูสภาพจอประสาทตาก่อนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องได้รับยาเสริมหรือไม่ เพราะในยาพวกนี้มีปริมาณวิตามิน และสารอาหารทดแทนในปริมาณสูงมาก การรับประทานโดยไม่จำเป็นอาจทำให้มีการสะสมจนก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ และจากผลการศึกษาพบว่ายาในกลุ่มนี้ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรค หรือรักษาการมองเห็นที่เสียไปแล้วให้ดีขึ้นได้ แต่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อมไม่ให้เข้าสู่ระยะรุนแรงได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนซื้นมารับประทานเอง
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพตาและจอประสาทตาเป็นระยะตามคำแนะนำในแต่ละช่วงอายุ และหมั่นคอยสังเกตการมองเห็นในตาแต่ละข้างว่าปรกติดีหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจควรรีบปรึกษาแพทย์ ไม่ควรรอจนมีอาการตามัวอย่างชัดเจน เพราะอาจแก้ไขได้ยาก
<< หน้าแรก©๒๕๕๑ นพ.ยุทธนา สุคนธทรัพย์