ต้อกระจก (Cataract)

โรคตาบอดรักษาได้

ต้อกระจก คือโรคที่เกิดจากความขุ่นมัวของเลนส์แก้วตาธรรมชาติซึ่งปรกติจะใส จากสาเหตุอะไรก็ตาม ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้แสงผ่านเข้าไปที่จอประสาทตาด้านในลูกตาได้น้อยลง ผู้ป่วยจะรู้สึกมีอาการตามัวตลอดเวลา และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา จนถึงกับมองไม่เห็นหรือตาบอดได้


อย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยมีอาการตามัวหรือมองไม่เห็นจากโรคต้อกระจกเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีปัญหาอื่นที่ตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังมีจอประสาทตาที่ดีอยู่ จักษุแพทย์ก็สามารถให้การรักษาโดยการผ่าตัดตา ให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นได้ดีอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่ขึ้นกับอายุของผู้ป่วย

การรักษา

ควรทำผ่าตัดเมื่อไหร่
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การรักษาต้อกระจกทำได้โดยการผ่าตัดเท่านั้น การใช้ยาหยอดตายังไม่มีข้อพิสูจน์ได้ว่าสามารถป้องกัน ยับยั้ง หรือรักษาต้อกระจกได้ ดังนั้นถ้าผู้ป่วยต้อกระจกมีอาการตามัว หรือมองเห็นได้ลำบากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือต้อกระจกนั้นเป็นมากจนมองไม่เห็น หรืออาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายจนทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ก็ควรเข้ารับการรักษาผ่าตัดเอาต้อกระจกออกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ เพื่อให้มีการมองเห็นที่ดีขึ้น


สิ่งที่ผู้ป่วยต้อกระจกทุกรายคาดหวังเมื่อตัดสินใจเข้ารับการรักษาก็คือ การกลับมามองเห็นได้ดีเหมือนหรือใกล้เคียงปรกติมากที่สุด นอกเหนือจากปัจจัยที่เกี่ยวกับพยาธิสภาพที่ตาแล้ว เทคนิคการผ่าตัด และการเลือกค่าสายตาและชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมให้เหมาะสมกับตาที่รับการผ่าตัดของผู้ป่วยแต่ละรายก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้หลังผ่าตัด ผู้ป่วยมองเห็นได้ดีมากน้อยเพียงใด


ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดให้ดีขึ้นเรื่อยๆจนแทบไม่มีข้อจำกัดในการรักษา และมีการคิดค้นเลนส์แก้วตาเทียมรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้แพทย์มีทางเลือกในการเลือกเลนส์แก้วตาเทียมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้มากขึ้น

วิธีการผ่าตัดต้อกระจก

1.การผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) เป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและถือได้ว่าเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน โดยมีหลักในการทำคือ แพทย์จะใช้ใบมีดขนาดเล็กเจาะเปิดแผลขนาดประมาณ 2.6-3.0 มม.ที่ขอบกระจกตาดำ แล้วสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องลูกตาส่วนหน้า เพื่อตัดเปิดบางส่วนของถุงหุ้มเลนส์ที่หุ้มต้อกระจกออก แล้วใช้ส่วนปลายของท่อคลื่นเสียงความถี่สูงสอดเข้าไปสลายต้อกระจกให้เป็นชิ้นเล็กๆแล้วดูดออกจนหมด จากนั้นจะทำการใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ในถุงหุ้มเลนส์เดิม ซึ่งจะทำให้เลนส์แก้วตาเทียมอยู่ในตำแหน่งเดียวกับเลนส์แก้วตาธรรมชาติและไม่สามารถเคลื่อนหลุดได้ และเนื่องจากแผลที่ขอบกระจกตาดำนี้มีขนาดเล็กมาก จึงสามารถสมานปิดเป็นปรกติได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องเย็บแผล ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครื่องสลายต้อกระจกให้สามารถทำการสลายต้อกระจกได้ทุกระดับความรุนแรงของโรคอย่างปลอดภัย จนอาจกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีข้อจำกัดในการให้การรักษาต้อกระจกด้วยวิธีนี้เหมือนในอดีต


นอกจากนี้ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดสลายต้อกระจก ไม่จำเป็นที่จะต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล สามารถรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ และทำกิจวัตรประจำวันหรือทำงานได้ตามปรกติตั้งแต่เมื่อผ่าตัดเสร็จ การฟื้นสภาพการมองเห็นจะเกิดขึ้นเร็วและคงที่ภายใน 1-2 สัปดาห์ และการผ่าตัดวิธีนี้ยังทำให้สามารถเลือกใช้เลนส์แก้วตาเทียมรุ่นใหม่ๆที่มีคุณสมบัติเฉพาะได้หลากหลายขึ้น ช่วยให้สามารถให้การรักษาที่จะมีผลในการฟื้นฟูสภาพการมองเห็นที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วยได้
2.การผ่าตัดเอาต้อกระจกออกทั้งก้อนแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular cataract extraction) วิธีนี้เป็นวิธีการรักษาเดิมที่ใช้ได้ผลดีก่อนวิธีสลายต้อกระจก โดยแพทย์จะทำการเปิดแผลที่เยื่อบุตาและผนังลูกตาใกล้ขอบกระจกตาดำ กว้างประมาณ 8-13 มม. จากนั้นจะตัดบางส่วนของถุงหุ้มเลนส์แก้วตาธรรมชาติที่เป็นต้อกระจกออก นำต้อกระจกออกมาทั้งก้อน แล้วจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ สุดท้ายจึงเย็บปิดแผลด้วยเส้นไหมที่มีขนาดเล็กมาก(เล็กกว่าเส้นผม)


การผ่าตัดวิธีนี้ใช้เวลาพักฟื้นและการฟื้นสภาพสายตานานประมาณ 4-6 สัปดาห์ และมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมต่างๆบ้างในช่วงแรก แต่หลัง 1 เดือนไปแล้วก็สามารถปฏิบัติตัวตามปรกติได้ อย่างไรก็ตามในระยะยาวแม้ว่าแผลที่ตาจะหายดีแล้ว แต่เนื่องจากการผ่าตัดที่มีรอยแผลกว้างร่วมกับการหายของแผลบริเวณเนื้อเยื่อที่เป็นตาขาวจะไม่สมานเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนธรรมชาติ ทำให้บริเวณนี้เป็นจุดอ่อนของลูกตาที่หากได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงจะทำให้ตาแตกได้ ผู้ป่วยที่เคยรับการผ่าตัดต้อกระจกแบบนี้ จึงควรระมัดระวังตัวเองจากอุบัติเหตุต่างๆที่อาจกระทบกระเทือนมาถึงดวงตาได้


ข้อดีของการผ่าตัดวิธีนี้คือ ทำได้ง่าย ใช้อุปกรณ์ในการผ่าตัดน้อยและไม่ต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพงอย่างเครื่องสลายต้อกระจก ทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า จึงมีโอกาสที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเข้าถึงบริการได้มากกว่า
  



เลนส์แก้วตาเทียม (Intraocular Lens; IOL) คำตอบของคุณภาพการมองเห็น

เลนส์แก้วตาเทียม(IOL)เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ทำขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่แทนเลนส์แก้วตาธรรมชาติที่มีปัญหาจนต้องผ่าตัดเอาออกไป เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้งหนึ่ง


เลนส์แก้วตาเทียมทำจากสารที่มีคุณสมบัติเข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อภายในลูกตา ไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาของร่างกายต่อวัตถุแปลกปลอม ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้แก่ PMMA, Silicone และ Acrylic โดยสองชนิดหลังจะถูกใช้ในการทำเลนส์พับ ที่สามารถพับสอดผ่านเข้าแผลผ่าตัดสลายต้อกระจกที่มีขนาดเล็กได้


ในด้านของรูปทรง ส่วนกลางของเลนส์(optic)แทบไม่มีความแตกต่างในเลนส์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ส่วนใหญ่จะมีขอบเลนส์แบบตัดตั้งฉาก(square edge) ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้เลนส์ยึดติดกับถุงหุ้มเลนส์ได้ดี และมีโอกาสเกิดฝ้าขาวที่ถุงหุ้มเลนส์น้อยเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ส่วนขาเลนส์(haptic)มีรูปทรงที่แตกต่างกันไปหลายแบบ แต่ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เลนส์มีความเสถียรและวางตัวอยู่ตรงกลางถุงหุ้มเลนส์ได้ดีไม่แตกต่างกัน


ดังนั้นในปัจจุบันการเลือกชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมที่จะใส่ให้กับผู้ป่วยแต่ละราย จึงพิจารณาจากคุณสมบัติของการปรับทางเดินของแสงและจุดโฟกัสที่มีผลต่อการมองเห็นหลังผ่าตัดเป็นสำคัญ เช่น
  • เลนส์ที่โฟกัสภาพระยะเดียวจะทำให้มองเห็นในระยะไกลได้ชัดเจนดี แต่ต้องใช้แว่นตาช่วยในการมองระยะใกล้
  • เลนส์ที่มีจุดโฟกัสภาพหลายระยะ (Multifocal IOL) ช่วยให้สามารถมองเห็นได้ชัดทุกระยะโดยไม่จำเป็น ต้องสวมแว่นตา
  • เลนส์ที่สามารถเคลื่อนขยับตัวเพื่อปรับโฟกัสได้เอง (Accommodative IOL) คล้ายลักษณะการทำงานของเลนส์แก้วตาธรรมชาติ ทำให้มองได้ชัดทั้งไกลใกล้ โดยไม่ต้องใช้แว่นตา
  • เลนส์ที่แก้ค่าสายตาเอียงในตัว (Toric IOL) ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้แว่นตาแก้สายตาเอียงหลังผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีสายตาเอียงอยู่เดิม

เลนส์ปรับโฟกัสเองได้(accommodative IOL) 2 แบบ แสดงภาพขณะฝังอยู่ในตาภายในถุงหุ้มเลนส์

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่จะรับการผ่าตัดสลายต้อกระจก

  • ผู้ป่วยควรจะรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาต้อกระจก เทคนิคการผ่าตัด ผลข้างเคียงหรือภาวะแทรก ซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมที่ใช้ ตลอดจนผลการรักษาและความคาดหวังที่จะได้รับจากการผ่าตัด กับแพทย์ผู้ทำการรักษาให้เข้าใจและหมดข้อสงสัย เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตัวและร่วมมือในการรักษาได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ผลการรักษาออกมาดี เป็นไปตามแผนการรักษาที่วางไว้
  • เมื่อได้ทำความเข้าใจกับแพทย์ถึงขั้นตอนการผ่าตัด และวิธีการให้ยาระงับความเจ็บปวดขณะทำผ่าตัด ซึ่งมีตั้งแต่การใช้ยาชาแบบหยอดตา แบบฉีดเข้าเนื้อเยื่ออ่อนข้างลูกตา จนถึงการใช้ยาดมสลบ จนเป็นที่เข้าใจแล้ว สิ่งที่ผู้ป่วยต้องทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ การผ่าตัดตานี้ถือเป็นการผ่าตัดปลอดเชื้อระดับสูง และจะต้องมีขั้นตอนและวิธีการในการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อให้ได้ผลดีที่สุด เพราะถือได้ว่าการติดเชื้อหลังผ่าตัดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอย่างมากสำหรับการผ่าตัดตา
  • ผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด ระหว่างการทำผ่าตัด และหลังการผ่าตัดตลอดช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้
    การปฏิบัติตัวขณะผ่าตัด
  • ระหว่างการผ่าตัดควรนอนนิ่งๆ ผ่อนคลาย ไม่ต้องเกร็ง แต่ห้ามขยับหน้าหรือศีรษะ รวมทั้งส่วนอื่นๆของร่างกาย เพราะอาจสะเทือนถึงตาได้ ถ้าจำเป็นต้องเคลื่อนไหวร่างกายส่วนใดก็ตาม ต้องแจ้งให้แพทย์ซึ่งกำลังทำผ่าตัดทราบก่อน เพื่อนำเครื่องมือผ่าตัดออกจากตา รอจนแพทย์อนุญาตให้เคลื่อนไหวจึงขยับเบาๆได้ ทั้งนี้รวมถึงการจะไอหรือจามด้วย
  • ในขณะทำผ่าตัดอาจได้ยินเสียงของเครื่องสลายต้อกระจกดังเป็นระยะๆบ้างเป็นปรกติ ไม่ต้องตกใจ
  • โดยทั่วไปการผ่าตัดสลายต้อกระจกจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณครึ่งชั่วโมง อาจเร็วหรือนานกว่านี้บ้าง ขึ้น กับสภาพของต้อกระจก ไม่ควรไปกังวลกับเรื่องเวลามาก เพราะแม้ในผู้ป่วยคนเดียวกันก็อาจใช้เวลาในการผ่าตัดต้อกระจกในตาแต่ละข้างไม่เท่ากัน
  • เมื่อผ่าตัดเสร็จ ตาข้างนั้นจะถูกปิดด้วยผ้าและฝาครอบกันกระแทก ควรหลับตาข้างที่ผ่าไว้ อย่าพยายามลืมตาขณะมีผ้าปิดอยู่ เพราะผ้าอาจครูดกระจกตาดำเป็นแผลโดยไม่รู้ตัวได้ เนื่องจากหลังผ่าตัดเสร็จใหม่ๆตาข้างนั้นยังชาอยู่ทำให้ไม่รู้สึกว่ามีอะไรมาสัมผัสหรือโดนที่ตา
    การปฏิบัติตัวก่อนการผ่าตัด
  • งดรับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น aspirin, plavix หรือสารสกัดจากใบแปะก๊วย ก่อนผ่าตัด 1สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนว่าสามารถหยุดได้หรือไม่ โดยทั่วไปการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยวิธีเจาะแผลบริเวณขอบกระจกตาดำ จะไม่มีการเสียเลือด และไม่จำเป็นต้องหยุดยาในกลุ่มนี้ แต่เพื่อระวังผลกระทบจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ขณะผ่าตัด รวมถึงการรักษาอื่นที่อาจต้องทำเพื่อแก้ไขภาวะ แทรกซ้อนที่เกิดขึ้น จึงควรหยุดยาดังกล่าวก่อนการผ่าตัด แต่ถ้าไม่สามารถหยุดยาได้ ก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามในการทำผ่าตัด โดยสามารถทำผ่าตัดได้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ
  • ในระหว่างการผ่าตัดจะมีการใช้ผ้าคลุมปลอดเชื้อปูคลุมตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ในผู้ป่วยบางรายที่อาจไม่เคยชินกับการที่มีผ้าคลุมในลักษณะนี้ ควรได้ฝึกทดลองนอนราบ ไม่หนุนหมอน คลุมโปงด้วยผ้าแพรบางๆโดยไม่ต้องให้ผ้าแนบราบไปบนใบหน้า ประมาณครึ่งชั่วโมง เพื่อให้เกิดความเคยชินคล้ายกับตอนผ่าตัดจริง
  • เช้าวันผ่าตัด ผู้ป่วยควรอาบน้ำ สระผม และฟอกสบู่ทำความสะอาดบริเวณใบหน้าโดยเฉพาะเปลือกตาและผิวหนังรอบๆดวงตาข้างที่จะผ่าตัด ไม่ควรแต่งหน้าทาแป้งที่ใบหน้า หรือใส่น้ำมันใส่ผม
  • กรณีที่ไม่ได้ใช้วิธีดมยาสลบระงับความรู้สึก ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและยาประจำตัวอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดได้ตามปรกติ
  • ในวันผ่าตัดถ้ามีอาการผิดปรกติเช่น เคืองตา ตาแดง มีไข้ ไอ หายใจเหนื่อย ท้องเดิน หรือความผิด ปรกติหรือไม่สบายอื่นใดเกิดขึ้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อจะได้ตรวจประเมิณใหม่อีกครั้งหนึ่งว่า ผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่พร้อมจะเข้ารับการผ่าตัดหรือไม่
    ข้อปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด
  • ในวันแรกของการผ่าตัด ควรปิดตาไว้ ยังไม่ต้องเปิดหยอดยา แพทย์จะนัดมาเปิดตาในวันรุ่งขึ้น
  • สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน รับประทานอาหารและยาประจำตัวรวมทั้งยากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดได้ตามปรกติ ตั้งแต่ผ่าตัดเสร็จ ถ้ามีข้อห้ามเฉพาะ แพทย์จะแจ้งให้ทราบเป็นรายๆไป
  • หลีกเลี่ยงอย่าให้น้ำเข้าตาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ใช้เช็ดหน้าแทนการล้างหน้า งดสระผม หรือถ้าจะสระผมควรใช้วิธีนอนหงายให้ผู้อื่นสระให้
  • แพทย์จะสอนวิธีเช็ดทำความสะอาดรอบดวงตาข้างที่ผ่าตัด ควรทำทุกวันอย่างน้อยวันละครั้ง เปลี่ยนผ้าปิดตาทุกวัน แต่ไม่ต้องปิดผ้าได้ถ้าไม่รู้สึกเคืงตาแล้ว การครอบฝาเพื่อกันกระแทกหรือการเผลอไปขยี้ตา จึงควรครอบฝาที่ตาไว้ตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลานอน ตอนกลางวันถ้าไม่อยากครอบฝาอาจสวมแว่นกันแดดแทนได้
  • หลีกเลี่ยงฝุ่น ควันอย่าให้เข้าตา ตลอดช่วงเวลาที่ห้ามน้ำเข้าตา
  • หยอดยา ป้ายยา รับประทานยาตามที่แพทย์กำหนด
  • ใช้สายตามองไกลได้ตามปรกติเท่าที่ใช้ไหว โดยทั่วไปสายตาจะคงที่ประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังผ่าตัด แพทย์จะทำการตรวจเช็ดสายตาให้และดูว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้แว่นสายตาเพื่อช่วยในการมองเห็นหรือไม่
  • มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  • โดยทั่วไปอาการเคืองตา ไม่สบายตาจะลดน้อยลงเรื่อยๆตั้งแต่วันแรกหลังผ่าตัด และการมองเห็นจะดีขึ้นเรื่อยๆวันต่อวัน ดังนั้นถ้ามีอาการอะไรก็ตามที่ทำให้รู้สึกว่าแย่ลง เช่น เคืองตามากขึ้น ปวดตา ตากลับมาแดง ขี้ตามากขึ้น เปลือกตาบวม หรือการมองเห็นลดลง ต้องรีบพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอจนถึงวันนัดตรวจครั้งต่อไป เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายเกิดขึ้นหลังผ่าตัดได้
<< หน้าแรก©๒๕๕๑ นพ.ยุทธนา สุคนธทรัพย์